HR (ค่าแรง)
![]() |
|
งาน HR กับการปรับค่าแรง 300 บาท สิ้นเสียงประกาศว่า “หากเราได้เป็นรัฐบาล เราจะปรับค่าแรงให้ทุกท่าน 300 บาท” เสียงปรบมือดังสนั่นทั่วเวทีการปราศรัยในวันนั้น ยังคงกึกก้องอยู่ในใจของผู้ใช้แรงานทั่วประเทศอยู่จนทุกวันนี้ที่เฝ้ารอว่า เมื่อไหร่จะได้อย่างที่หวัง ซึ่ง SME จำนวนมากได้รับผลกระทบจากเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่างทั้งถามทั้งบ่นให้ฟังกันระงมเป็นแถว โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนค่าจ้างที่บางโรงงานได้รับผลกระทบตั้งแต่ 10 % ไปจนถึง 40 % ขึ้นอยู่กับจำนวนคนงานว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งบ้างที่ก็บ่นว่าการปรับค่าแรงคราวนี้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกปีหนึ่ง เป็นล้าน ๆ บาท บางแห่งอยู่ไม่ได้ก็ต้องเตรียมปิดตัวลง บ้างที่พอทนไหวก็ต้องกัดฟันสู้กันไป แต่หากดูทางด้านผู้ใช้แรงงานต่างก็ดีใจที่ได้ปรับขึ้นเป็น 300 บาท เพียงแต่ว่ายังไม่ปรับทั้งหมดทั่วประเทศ จะทยอยปรับเป็นภาค ๆ และทีละกลุ่มจังหวัด หากถามผมว่าเห็นอย่างไร ผมเห็นด้วยกับการปรับค่าแรงให้เป็น 300 บาท แต่ยังไม่เห็นด้วยที่จะไปทยอยปรับทีละภาคหรือทีละกลุ่มจังหวัด เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเป็นวิทยากรบรรยายเดินทางมาทั่วประเทศพบว่า ประเทศไทยไม่ว่าจะไปภาคไหนจังหวัดใด ราคาสินค้าแทบจะเท่ากันหมด เช่น อาหารตามสั่ง ผมทานที่กรุงเทพ ราคา 30 บาท ราคาที่ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันตก ราคาอาหารตามสั่งก็ 30 บาทเหมือนกัน ไม่ใช่ที่กรุงเทพ 30 บาท แล้ว ราคาอาหารตามสั่งที่ต่างจังหวัดจะถูกว่า คือ 25 บาท ไม่ใช่เลยครับ ราคา 30 บาททั่วประเทศ แถมบางที่แพงกว่าเป็น 35 บาทก็ยังมี ผมจึงอยากให้มีการปรับพร้อม ๆ กันหมด เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น และสินค้าหลายรายการได้ขึ้นราคาไปรอแล้วทั้ง ๆ ที่ค่าแรงยังปรับให้ไม่พร้อมกันหมดทั่วประเทศ ค่าแรงที่ปรับคราวนี้ด้านหนึ่งคงทำให้หาคนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นด้านบวกที่ควรมองเห็น ไม่ใช่มองเห็นแต่เพียงด้านลบอย่างเดียว มาถึงชาว HR และผู้ประกอบการ SME ไม่ค่อยรู้อย่างชัดเจนใช่ไหมครับว่า อะไรเป็นค่าจ้าง อะไรไม่ใช่ค่าจ้าง ผมจึงอยากบอกว่า สิ่งที่เรียกว่าค่าจ้าง ได้แก่ เงินค่าครองชีพ ค่าตำแหน่ง เป็นต้น สิ่งที่ไม่ใช่ค่าจ้างแน่ ๆ ก็คือ ค่า OT อย่าได้หลงเอามาคิดรวมกันเลยทีเดียวเชียว ส่วนพวกค่าอาหาร ค่าพาหนะ(รถเดินทางมาทำงาน) อันนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างครับ เพราะสิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าเป็นสวัสดิการ หลายบริษัทที่ผมได้ดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหาร ได้มีสวัสดิการเกี่ยวกับการออกค่าเช่าหอพักให้ด้วย จะนำมารวมได้หรือป่าว ! คำตอบก็คือ อันนี้ไม่ใช่ค่าตอบแทนการทำงานแต่เป็นการช่วยค่าที่พักอาศัยเท่านั้น จึงเรียกว่าเป็นสวัสดิการจะนำมารวมเป็นค่าจ้างไม่ได้ แล้วบางที่ก็มีเบี้ยขยัน เอามารวมเป็นค่าจ้างได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ ไม่ได้เช่นกัน เพราะเบี้ยขยันเป็นสวัสดิการชนิดที่เรียกกันในหมู่ชาว HR ว่าเงิน “จูงใจ” ในการให้มาทำงาน (ผมทำงานในสายงานนี้มานานยังรู้สึกขำเลยครับว่า คนจะมาทำงานยังต้องมาให้เงินเพื่อจูงใจให้ขยันเพื่อมาทำงานอีก) แต่เบี้ยขยันก็มีจุดที่เป็นเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่ง คือ ได้รับไม่แน่นอน เช่น ถ้าเดือนไหนดันขาดงานไปหนึ่งวัน เบี้ยขยันก็จะหายวับไปทันทีหรือตามจำนวนวันที่ขาดงานไป ดังนั้น จึงเอามาคิดไม่ได้ สรุป ก็คือ สิ่งใดที่จะนำมารวมได้ต้องเป็น “ค่าจ้าง” เท่านั้น หากเป็น ”สวัสดิการ” นำมาคิดรวมไม่ได้ สำหรับพวกเรื่องของประกันสังคม ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชย พวกนี้การคำนวณเพื่อจ่าย ต้องใช้ “ฐานค่าจ้าง” ตัวเดียวกัน ไม่ใช่พอคำนวณ 300 บาทจะเอามารวม แต่พอเวลาคิด OT หักประกันสังคมไม่ยอมรวม แบบนี้คงยืมคำของน้องทราย “คุณแม่ขอร้อง” ว่าอย่าทำเลยครับ เพราะมันจะส่งผลให้พนักงานมีทัศนคติไม่ดีต่อบริษัทฯ และต่อชาว HR ด้วยนะครับ ด้วยเหตุนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับลดอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ลง ก็มีหลักการและเทคนิคตั้งมากมายครับ หากท่านต้องการแสวงหาองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาการทำงาน โดยการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้กับสถาบัน FIT Pro ของเราเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานก็ได้ครับ เอาหล่ะครับ ! เพียงเท่านี้คงทำให้ท่านผู้บริหารและชาว HR รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อต้องปรับค่าแรง 300 บาทนะครับ ทุกอย่างล้วนมีทางออกและทางแก้ไข เพราะมีคำกล่าวว่า ” ปัญหาทุกอย่าง มีเอาไว้แก้ไข ไม่ได้มีเอาไว้ท้อถอยครับ ” |